ทุกคนเคยอ่านข่าวกันไหมครับ…?
นับตั้งแต่สมัยโบราณ คนเรารับรู้ข่าวสารผ่านช่องทางมากมาย ตั้งแต่การป่าวประกาศกัน และเมื่อเป็นเรื่องที่ทำโดยการบอกเล่ากัน หรือแค่เขียนเท่านั้น การเกิดการสื่อสารผิดพลาด (misinformation) จึงเกิดขึ้นได้ง่ายอย่างมาก เนื่องจากคนเราไม่มีความสามารถที่จะจดจำทุกอย่างได้มากขนาดนั้น จนกระทั่งโยฮัน กูเต็นเบิร์ค คิดค้นเครื่องพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในปีคริสตศักราช 1568 นับได้ว่า การคิดค้นครั้งนั้นได้เปลี่ยนโลกของการสื่อสารจากการแค่เล่าปากต่อปาก ไปสู่การพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือพิมพ์ ซึ่งการส่งต่อข้อมูลข่าวสารนั้น เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถสร้างความน่าเชื่อถือในข่าวสารนั้นมากขึ้นอีกด้วย
แต่ว่าในปัจจุบัน ที่มีวิธีการสื่อสารแบบใหม่ สื่อใหม่ ที่ง่ายกว่า รวดเร็วกว่า จนทำให้ทุกคนได้ยินประโยคที่ติดหูกันอย่าง “ไม่ว่าใครก็เป็นสื่อได้” อย่าง “เว็บไซด์” ซึ่งเว็บไซด์นั้นมีวิธีการสร้าง และเผยแพร่ที่ง่ายกว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเกิดขึ้นของโซเชียลมีเดีย ทำให้การสร้าง และส่งต่อข่าวสารนั้นง่ายขึ้นมากเข้าไปอีก ซึ่งก็ยิ่งทำให้เกิดการสื่อสารที่ผิดพลาด เกิดข่าวลวง ข่าวปลอมได้ง่ายขึ้นมากกว่าที่เคยเป็นมา ผู้คนหลงเชื่อข่าวปลอมเหล่านี้มากมาย เพราะหลายคนยังคงเชื่อมั่นแบบหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ว่า ถ้ามันอยู่บนนั้นแล้วแสดงว่าเป็นข่าวจริง การเกิดขึ้นของ “ข่าวออนไลน์” ทำให้เกิดศัพท์ใหม่อย่าง “Fake News” หรือข่าวปลอมตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้
แล้วข่าวปลอมมีลักษณะเป็นอย่างไร หน้าตาเป็นอย่างไรกันล่ะ ? ในบทความนี้เราจะมาเล่าให้ฟังกันแบบง่ายๆ ว่า “ข่าวปลอมเนี่ย มันคืออะไรกันแน่ ?”
Fake News = ข่าวลวง
Fake News นั้นถ้าให้แปลตรง ๆ เลยก็คือข่าวปลอม ข่าวลวง หรือข่าวที่ไม่ได้เป็นความจริง คำว่า Fake News นั้นเป็นคำใหม่ (Neologism) ดังนั้นความหมายของมันจึงแล้วแต่การนิยามของแต่ละคน คุณ Michael Radutzk โปรดิวเซอร์ของรายการ 60 Miniutes ได้เคยนิยาม Fake News ไว้ว่า “stories that are provably false, have enormous traction in the culture, and are consumed by millions of people” หรือ เรื่องราวที่ถูกพิสูจน์ได้ว่าไม่จริง และมีผลกระทบในระดับความเชื่อ และเข้าถึงคนหลักล้าน
สำหรับลักษณะของ Fake News นั้น คุณ Claire Wardle จาก First Draft News ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับข่าวปลอม ร่วมกับ Social Media และ Publisher อีกกว่า 30 ราย รวมถึง Facebook, Twitter, New York Times หรือ BuzzFeed ได้ ให้นิยาม 7 รูปแบบของข่าวปลอมไว้อย่างน่าสนใจ และเรียงตามความรุนแรง เธอได้ไอเดียจากการศึกษาข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ในช่วงการเลือกตั้งปี 2016 ที่จุดประเด็นเรื่อง Fake News ขึ้นมา
Nutn0n จากเว็บไซด์ Rainmaker
ปะเภทของ Fake News นั้นใกล้ตัวกว่าที่เราคิด !
ต่อไป เราจะแยกให้ดูว่า ข่าวปลอม หรือ Fake News นั้นมีประเภทใดบ้าง ประกอบกับคำอธิบายของ Claire Wardle จาก First Draft News ด้วยนั่นเอง
หากทุกคนยังไม่แน่ใจว่า ข่าวปลอมที่เรากำลังอ่านอยู่นั้น จัดว่าเป็นข่าวปลอมประเภทไหนกันแน่ ระหว่างอ่านรายละเอียดของทั้ง 7 ประเภทนี้ อยากให้ทุกคนลองนึกถึงข่าวปลอมต่างๆที่เคยเจอในชีวิตประจำวันกันดูนะ !
1. มีเนื้อหาเพื่อล้อเลียน – Satire or Parody
ข่าวปลอมเหล่านี้มักมีเนื้อหาเพื่อเสียดสีให้ขบขัน ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อก่ออันตราย แต่อาจเป็นเพราะหลงเชื่อว่านี่คือเรื่องจริง เลยทำให้เมื่ออ่านข่าวแล้ว รีบส่งต่อให้เพื่อนทันทีเพราะคิดว่านี่คือเรื่องจริง
2. มีเนื้อหาเพื่อชี้นำ – Misleading
ข่าวเหล่านี้จะมีการเขียนข่าวหรือทำคอนเทนต์โดยจงใจให้เข้าใจผิด หรือการใช้คำอย่างนึงเพื่ออธิบายอีกอย่างนึง พอโดนจับได้ก็จะมาประกาศออกมาว่าก็เข้าใจผิดเองทั้ง ๆ ที่ตอนแรกคือหวังให้เขาเข้าใจผิดอยู่แล้ว Claire ได้บอกว่าข่าวแบบนี้วัตถุประสงค์คือ ชวนเชื่อ หรือหวังผลทางการเมือง อย่างเช่นคลิปเสียงของคนที่คาดว่าคือนักการเมืองดังขณะนี้ กับอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเผยแพร่โดยสื่อเจ้าดังอีกเจ้าหนึ่ง
3. ข่าวปลอม – Fabricated Content
มีเนื้อหาเป็นการแต่งเรื่องขึ้นมาใหม่ทั้งหมด ทั้งเนื้อหาข่าว ภาพประกอบ และผู้ลงข่าว เช่นการปลอมเป็นข่าวสด ปลอมเป็นไทยรัฐ หรือการปลอมเป็นบุคคล แล้วรายงานข่าว ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดให้ผู้อ่านว่านี่คือข่าวจริงจากสำนักข่าวจริง มีเป้าหมายเพื่อมุ่งร้ายหรือหลอกลวง
4. สวมรอย – Impostor Content
การสวมรอย โดยเฉพาะสวมรอยที่มาคือการรายงานข่าวแบบปกติ โดยมีการอ้างไปยังบุคคลหรือแหล่งข่าวเช่น คนนี้กล่าวไว้ว่า, นายกกล่าวไว้ว่า หรือ คนนู้นคนนี้เคยกล่าวไว้ว่า แต่จริง ๆ แล้วเป็นการที่คนทำคอนเทนต์หรือคนเขียนข่าวคิดหรือมโนขึ้นมาเอง
5. เนื้อหาหลอกลวง – Manipulated Content
การ Manipulated คือการปลอมหรือตัดต่อ ซึ่งถ้าเราไม่มีการสังเกตให้ดีๆ ก็จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่านี่คือข่าวปลอม การตัดต่อนี้มีทั้งการตัดต่อเนื้อหาข่าว, ภาพ, เสียง, วิดีโอ หรือแม้กระทั่งการเอา logo ของสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือมาใส่ ตัวอย่างของข่าวหลอกลวงที่เห็นได้ชัดก็คือ ภาพตัดต่อต่างๆ
6. ผิดบริบท – False Context
เป็นการนำเอารูป, ข้อความ, คำพูด ที่เกิดขึ้นจริง นำเอามาใช้แล้วพูดถึงอีกเรื่องนึง แต่ทว่านำมาใช้ผิดบริบท หรือนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์หลักของมัน เช่นการนำเอาภาพข่าวเก่า มาวนใช้ใหม่อยู่เรื่อยๆ ว่าเป็นข่าวจริงที่เพิ่งเกิดขึ้นมาไม่นาน หรืออย่างภาพข่าวไฟไหม้ที่ป่าอเมซอนเมื่อปี 2557 มาวนใหม่ในปี 2562 นี้
7. โยงข่าวมั่ว – False Connection
ข่าวเหล่านี้ มีเนื้อหาเป็นข้อมูลที่ถูกจัดฉากชี้นำ คือการที่สองสิ่งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลยแต่ถูกนำมากล่าวถึงในข่าวเดียวกันหรือทำให้มาเชื่อมโยงกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อจุดประเด็นหรือใส่ร้าย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนนั้นก็คือ สื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ นำเอาประเด็นต่างๆ มาโยงเข้ากับประเด็นทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้น เช่น การแปรอักษรล้อการเมืองของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมานั่นเอง
สรุป
ท้ายที่สุดแล้ว ข่าวปลอมแต่ละประเภทนั้นสามารถเห็นได้ชัดเจนเลยว่ามันเป็นข่าวปลอม เพียงแค่เราจะต้องมีวิธีที่จะสามารถตรวจสอบข่าวเหล่านั้น เพื่อที่เราจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมเหล่านี้ได้นั่นเอง !
ที่มาของเนื้อหา :
https://www.etda.or.th/content/living-in-the-fake-news-era.html
https://www.rainmaker.in.th/7-type-of-fake-news/
https://firstdraftnews.org/latest/fake-news-complicated/
http://news.bbc.co.uk/2/hi/business/1189119.stm
https://www.thebangkokinsight.com/196488/